ในการทำงานเกี่ยวกับการนำเข้าส่งออกนั้นความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ ๆ เรามาดู 7 เรื่องที่เจอกันประจำๆกันครับ

1. ไม่มีใบอนุญาต ใบอนุญาตไม่ครบ หรือ หมดอายุ

สินค้าบางตัวติดใบอนุญาตในการนำเข้า เช่น ของเล่นเด็ก สารเคมีบางตัวที่ดูใช้กันประจำวันแต่กลับต้องการใบอนุญาตซะอย่างนั้น บางทีใบอนุญาตใกล้หมดอายุแต่ชิปเม้นนำเข้าดันดีเลย์จนใบอนุญาตหมดอายุก็มี ก็ต้องคอยดูให้ดีด้วยนะครับ

2. ตู้ไม่เปิด

เจ้าตู้ไม่เปิดนี่ถ้าใครไม่เคยเจอคงจินตนาการไม่ออกแน่ ๆ ผมมีเหตุการณ์จริงมาเล่าให้ฟังครับ คือผมก็มีงานนำเข้ามาปกตินี่แหละ เรือก็เข้าเรียบร้อย แต่ชิปเม้นเจ้ากรรมนี่มันเป็น LCL ครับ เจ้า LCL นี่ก็มีข้อปฏิบัติที่ต้องโหลดสินค้าทั้งหมดเข้าโกดังก่อน ถึงจะไปเคลียของได้ คราวซวยที่สุดในสามโลก ผมโดนคิวเปิดตู้โหลดสินค้าเข้าโกดังคิวที่ 29 แต่เท่านั้นยังไม่หนำใจเจ้ากรรมนายเวร สายเรือที่มานี้ เปิดวันละ 3-5 ตู้ เท่านั้น!! ก็นับไปครับ ชิปเม้นนำเข้าชิปนี้กี่วันกว่าจะได้เปิดตู้เข้าโกดัง

3. ส่งสินค้าไม่ทันวันเรือออก

ปัญหานี้ส่วนใหญ่มีสามกรณีครับ 1. ผู้ขายผลิตไม่ทัน 2. รถไปส่งไม่ทัน 3. ติดสุ่มตรวจจากเจ้าหน้าที่

เจ้าข้อ 1. คงต้องไปจัดการกับผู้ขาย อาจจะปรับซะหน่อยหรือต่อรองอย่างอื่นก็ว่ากันไป ข้อ 2. รถไปส่งไม่ทันอาจจะรถเสียหรือเวลากระชั้นมาก ระยะทางก็ไกล ซึ่งอย่างนี้ถือว่าเป็นงานไฟลนก้นควรเผื่อเวลาเป็นทางแก้ ส่วนข้อ 3. ต้องบอกว่าเป็นคราวโชคร้ายจริง ๆ  เพราะเจ้าสุ่มตรวจเนี่ยมันจะไม่เกิดบ่อย ๆ เจ้าหน้าที่จะทำการสุ่มสินค้าซักอย่างมาตรวจและต้องใช้เวลาราวๆ 1-2 วันด้วยนะครับ

4. เรือออกไม่ได้ เพราะทัศนวิสัยแย่

ปัญหาภัยธรรมชาติ พายุเข้า หมอกลงจัด เรื่องพวกนี้ต้องทำใจนะครับ ยังไงมันก็ออกเรือไม่ได้จริง ๆ

5. เรือเสีย เรือล่ม

เรือเสียนี่ก็เกิดขึ้นได้แต่ก็ไม่บ่อยครับ แต่เรือล่มนี่สิครับอาจจะถึงขั้นหายนะกันเลยทีเดียวเพราะเจ้าเรือที่ล่มเนี่ยอาจจะต้องหารค่าเสียหายกับสายเรือด้วยนะครับ

6. เรือเลื่อนเนื่องจากสาเหตุที่คาดเดาไม่ได้

ที่ผมเคยเจอคือเรือเปลี่ยนตารางการเดินเรือไม่เข้าท่าที่สินค้าของเราอยู่ ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าสายเรือนี่จัดตารางเรือกันยังไง สรุปว่าผมต้องรอเรือลำใหม่อีก 2-3 วัน ถึงจะได้ขึ้นเรือเพราะเรือดีเลย์เข้าท่าเรือต้นทางฝั่งส่งออก ตารางเรือมันก็จะเลื่อนไปหมดครับ

7. ไม่เผื่อเวลา

เจ้าข้อนี้แหละครับที่ผมต้องให้ทุกคนท่องไว้ให้ขึ้นใจ ตารางงานคุณเขียนให้เป๊ะแค่ไหนก็ได้ แต่เจ้า 6 ข้อที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ มันไม่เป๊ะกับคุณขึ้นมาก็เงิบแน่ ๆ ครับ การกำหนดวันส่งของไม่ว่าจะนำเข้าส่งออกควรเผื่อเวลาไว้ดีเลย์ 1 อาทิตย์เป็นอย่างน้อยเพราะถ้าเจอปัญหาอย่างตู้ไม่เปิดต้องรอ 3-7 วัน มันก็จะเงิบกันได้ง่าย ๆ แม้ของจะมาถึงท่าเรือฝั่งผู้นำเข้าแล้วแท้ ๆ ก็ตาม

คำแนะนำที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ปัญหาในการนำเข้าส่งออกทั้ง 7 ข้อนี้คือ “ไม่ประมาท” อย่างเดียวเท่านั้น ตรวจสอบทุกอย่างให้ดี เปื่อเวลาให้ดี และผู้ให้บริการนำเข้าส่งออกให้ดี จะช่วยให้ปัญหาเป็นเรื่องที่แก้ได้ครับ

Previous articleรถไฟ … โอกาสทางการเปลี่ยนแปลง กับความติดหล่มทางการพัฒนา … ^^
Next articleราคาไม่ใช่คำตอบของการเลือกผู้ให้บริการ
เซลส์เฟรทฯ ผู้หันหลังให้กับ Tele-Marketing มาทุ่มเทให้กับการทำ Online Marketing แบบเต็มตัว