ถึงแม้ว่างานและบทความที่ผมเขียนจะเป็นเรื่องของการนำเข้าส่งออกและชิปปิ้งที่ไม่เห็นจะมีอะไรเกี่ยวกับดิจิทัล แต่ผมก็มองหาโอกาสใหม่ ๆ เสมอว่ามันจะเอาอะไรใหม่ใส่ลงไปได้หรือไม่
มีคำ ๆ นึงที่ผมเคยได้ฟังคุณธนา เธียรอัจฉริยะ พูดแล้วตรงกับที่ผมคิดมากคือ “ใครปรับตัวได้ก่อน รอด!”
หลายปีมานี้สิ่งสำคัญและใหม่ชนิดที่เป็นกระแสแรงจนฉุดไม่อยู่ไปทั่วโลกคือ เทรนด์ของการเริ่มต้นธุรกิจจากไอเดียและดิจิทัลครับ มันเป็นกระแสหลักที่ไม่สามารถหยุดหรือเปลี่ยนแปลงได้อีกแล้วใครตามไม่ทันเตรียมตัวเจ๊งได้เลย ไอเดียใหม่ ๆ จะดึงดูดลูกค้าและดิจิทัลคือกระแสหลักที่ต้องมี ไม่ว่าคุณจะมีไอเดียใหม่หรือไม่คุณก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้เป็นดิจิทัลให้ได้เพราะการใช้ดิจิทัลเข้ามาใส่ในธุรกิจ จะทำให้คุณไวกว่าคนอื่น สะดวกกว่าคนอื่นและสามารถให้ลูกค้าได้มากกว่าคนอื่น แล้วลูกค้าจะชอบคุณมากกว่าคนอื่น แต่ต้องเป็นรายแรกๆที่ทำนะครับ คนมาทีหลังถ้าไม่เหนือกว่าก็ไม่มีใครจำ(แต่คนแรก ๆ ที่ไม่พัฒนาก็ตกกระป๋องไม่ต่างกัน)
ทีนี้เมื่อมองมาทึ่ธุรกิจให้บริการนำเข้าส่งออก มันเกี่ยวข้องยังไงกับเศรษฐกิจดิจิทัลบ้าง? คำตอบคือ ดิจิทัลจะช่วยลดความไม่จำเป็นต่าง ๆ ลง หรือพูดง่าย ๆ ก็คือการลดต้นทุนนั่นเองครับ ซึ่งโดยตัวของธุรกิจเองมันคือต้นทุนของคนอื่นอยู่แล้ว การจะลดต้นทุนได้มากขึ้นและเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการยิ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจเลยทีเดียว
สังเกตุดูนะครับว่าไปรษณีย์ไทยใช้แอพในการติดตามพัสดุมานานแล้ว แต่ยังไม่สามารถเชื่อมโยงทุกอย่างให้เป็นดิจิทัลได้ แต่ในอนาคตก็จะปรับเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลได้ทั้งหมดอย่างแน่นอน และไม่นานเกินปี 2020 แน่นอนที่ทุกอย่างจะดำเนินการบนอินเทอร์เน็ต แต่ส่วนที่น่าสนใจมากกว่าคือพวกบริษัทข้ามชาติทั้งหลายซึ่งปรับตัวมานานมากแล้ว ระบบต่าง ๆ ก็ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจอง การรับสินค้า แสดงสถานะของชิปเม้นท์ และการชำระเงิน เรียกได้ว่าเป็นดิจิทัลไปเกินครึ่งแล้วโดยที่เราแทบจะไม่รู้สึกซะด้วยซ้ำ
ผมมักจะลองใช้อุปกรณ์หรือเทคโนโลยีอะไรที่ใหม่ ๆ อยู่เสมอและชอบอะไรที่มันวัดผลได้ด้วย ผมจึงชอบทดลองโปรแกรมคอมพิวเตอร์ใหม่ แอพพลิเคชั่นใหม่ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจแบบดิจิทัล ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์สำคัญของโลกนี้อย่าง Social media ทุกชนิด, application ของบริษัทที่ถือว่าเป็นคู่แข่ง(แต่เค้าคงไม่เห็นเราเป็นคู่แข่ง 55) หรือ web site ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานออนไลน์ ยิ่งเมื่อ “มือถือ”กลายเป็นอุปกรณ์หลักแซงคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะในการท่องอินเตอร์เน็ตด้วยแล้ว การออนไลน์ได้ตลอดเวลา ยิ่งตอกย้ำว่าโลกนี้ได้เข้าสู่การเป็นโลกดิจิทัลเข้าไปทุกที
โปรแกรมวัดผลง่ายกว่าเอกสารกองพะเนินและการวัดผลจากตัวเลขกำไรขาดทุนอย่างเดียวนั้นควรจะเลิกไปได้แล้ว
เพราะโปรแกรมต่าง ๆ นั้นใช้วัดผลได้ดีไม่ใช่แค่วัดได้ว่าใครหาเงินเก่ง แต่สามารถวัดผลเพื่อสร้างนวัตกรรมหรือการพัฒนาให้กับองค์กรได้ด้วย แต่ผู้ประกอบการกลับยังนิยมใช้การวัดผลด้วยวิธีบ้าน ๆ เพราะชอบการเห็นตัวเลขกำไรมากกว่าจะเห็นตัวเลขยาก ๆ จากการวัดผลต่าง ๆ ที่เป็นมืออาชีพ พูดง่าย ๆ คือใครหาเงินได้มากคนนั้นเจ้านายรัก แต่เมื่อประสบปัญหายอดขายตกต่ำกลับไม่สามารถหาตัววัดผลใด ๆ มาแก้ไขสถานการณ์ได้ นี่ยังไม่รวมถึงการที่ไม่สามารถสร้างบุคลากรที่มีความสามารถเข้าใจและสร้างสรรค์ให้องค์กรเกิดการต่อยอดเข้าสู่ยุคดิจิทัล เพราะตัวเองก็ไม่มีความรู้ที่จะถ่ายทอดลงไปเป็นนโยบายที่จับต้องได้อีกด้วย สุดท้ายจะลงเอยที่ต้องทำการสำรวจตลาดใหม่หรือซื้อข้อมูล รวมทั้งจ้าง Outsource เพื่อมาวางระบบโดยที่ไม่เข้าใจถึงแก่นในงานนำเข้าส่งออกและหาก Outsource ที่จ้างมาไม่ถ่ายทอดความรู้ให้ ก็ต้องจ่ายไม่รู้จบสำหรับสิ่งที่เราไม่รู้อีกต่างหาก
ทีนี้ลองมาตั้งถามกันเล่น ๆ ดูว่า ถ้าบริษัทบริการขนส่งนำเข้าส่งออกเจ้ายักษ์ใหญ่เหลืองคาดแดง ขนส่งรูปโล่ดำทอง และเจ้าที่ชื่อพ้องกับนักเทนนิสชื่อดัง เค้าใช้ตัววัดผลที่ชัดเจนขนาดที่รู้ว่าลูกค้าชอบนำเข้าอะไร ส่งออกอะไร คาดหวังบริการนำเข้าส่งออกแบบใด กับบริษัทบริการนำเข้าส่งออกเจ้าเล็กจิ๋วที่ไม่ยอมปรับตัว คำถามเล่น ๆ แต่จริงจังที่ต้องถามคงจะเป็น “เจ้าเล็กจะเจ๊งเมื่อไหร่” น่าจะเป็นคำถามที่ถูกต้องที่สุด
บางคนอาจจะนึกว่า DHL ส่งแต่เอกสารกับพัสดุ แต่จริง ๆ แล้วกำลังรุกเข้ามาในธุรกิจขนสินค้าที่ใหญ่ขึ้นแล้วนะครับ
ผมใช้เวลาศึกษาอยู่นานจนเห็นอะไรบางอย่างที่สำคัญและนี่คือเหตุผลที่ชิปปิ้งไทยจะมัวแต่ทำงานแบบเก่า ๆ ไม่ได้อีกแล้ว ถ้ายังอยากมีที่ยืนในธุรกิจนี้ต่อไปในอนาคต
8 เหตุผลที่ Digital คือคำตอบของธุรกิจเฟรทฯและชิปปิ้ง
1. เพิ่มประสิทธิภาพในการทำการตลาด
ตลาดสมัยใหม่มีชื่อว่า “อินเทอร์เน็ต” คนรุ่นใหม่ทุกคนที่ทำธุรกิจนำเข้าส่งออกจะถือสมาร์ทโฟนอย่างน้อย 1 เครื่อง และ มีอุปกรณ์ที่สามารถต่ออินเตอร์เน็ตได้ต่างหากอีกอย่างน้อย 1 ชิ้น อย่างคอมพิวเตอร์/โน๊ตบุ๊ค ถ้าจะเข้าถึงคนรุ่นใหม่เหล่านี้ คุณต้องไปปรากฎตัวต่อหน้าคนเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด เร็วที่สุด และทำให้ประทับใจมากที่สุด
ไม่ว่าจะยอมรับหรือไม่ แต่โลกทุกวันนี้มี Google เป็นเหมือนกูรูที่จะปรึกษาเป็นอันดับแรก เมื่อจะต้องใช้บริการนำเข้าส่งออกหรือชิปปิ้ง อย่างแรกที่ลูกค้าจะเปิดคือ Google อย่างไม่ต้องสงสัย พวกเค้าจะเริ่มใช้คีเวิร์ดง่าย ๆ อย่าง “ชิปปิ้ง”, “นำเข้า”, “ส่งออก” หรือยาวหน่อยก็ “บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ” ในการหาผู้ให้บริการซักราย แต่ถ้าโชคคุณยังดีคนรุ่นใหม่เหล่านั้นจะใช้ตามที่รุ่นพ่อเค้าใช้มาต่อไปอีกซักระยะจนกว่าของใหม่มันจะเปลี่ยนใจพวกเค้าไปจริง ๆ
2. ลดปัญหาเรื่องคน
Millennial คือกลุ่มคนที่เรื่องมากที่สุด เพราะเกิดมาในยุคที่คำว่า “ทันที” เป็นไปได้ ความอดทนจึงต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ยิ่งถ้าอยู่ในสภาวะที่บุพการีมีอันจะกินไม่เดือดร้อน รับรองได้ว่านายจ้างส่ายหัวแทบทุกคน ส่วนคนที่เก่งจริงก็ไม่พร้อมจะอยู่กับองค์กรนาน ๆ การเปลี่ยนให้ทั้งระบบเป็นดิจิทัลจึงเป็นหนทางที่ช่วยได้ดี
ระบบการทำงานที่ดีจะช่วยให้คนอยู่กับองค์กรได้นานขึ้น ดึงดูดคนใหม่ ๆ ให้เข้ามาได้ง่ายขึ้นเช่นกันและระบบที่ใช้คอมพิวเตอร์ทำงานด้วยโปรแกรมที่ง่าย ย้ำนะครับว่าง่าย จะทำให้เกิดประสิทธิภาพต่อหนึ่งหน่วยเพิ่มอย่างมหาศาลและเมื่อมีใครซักคนลาออกไประบบที่ง่ายจะช่วยให้คนใหม่มารับไม้ต่อได้ด้วยเวลาฝึกฝนที่น้อยลงมาก ธุรกิจคุณจะสะดุดแค่นิดหน่อยเท่านั้น ส่วนที่สำคัญอย่างข้อมูลก็จะถูกเก็บในระบบหมดปัญหาเรื่องข้อมูลรั่วไหลไปได้มากครับ
3. งานเอกสารต้องการความง่ายที่มากขึ้น
เอกสารสมัยนี้กำลังจะปรับเปลี่ยนไปเป็นไฟล์แทนหมดแล้ว อะไรทึ่ใช้ PDF, Words, Excel หรือ ไฟล์รูปภาพทดแทนได้ ก็มักจะถูกใช้เสมอ ๆ และการใช้ไฟล์เหล่านี้ก็ช่วยประหยัดทั้งการเก็บรักษาและต้นทุนกระดาษ+หมึกปริ๊นต์ได้ดีมากด้วย
เอกสารดิจิทัลมีข้อได้เปรียบอีกอย่างที่สำคัญมาก คือ การทำสำเนา การบันทึกข้อมูลเพื่อนำไปใช้ต่อได้ง่าย เช่นถ้ามีเอกสาร 1 ชุด ที่มีแผนกที่เกี่ยวข้อง 3 แผนก เอกสารก็ต้องใช้ 3 สำเนา แต่เมื่อใช้เป็นไฟล์เดียวกันแล้วความซ้ำซ้อนก็จะลดลงและความผิดพลาดก็เช่นกัน
4. ลดต้นทุน
แน่นอนว่าเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ก็ช่วยประหยัดต้นทุนไปได้อย่างนึง แต่อย่าลืมว่าทรัพยากร “คน” ต่างหากที่ประหยัดได้มากกว่าและเห็นผล จากที่ยอดขายในสมัยก่อนต้องพึ่งเซลส์ใหม่ ๆ เข้ามาเติมในทีม แต่เมื่อใช้เวปไซต์หรือโซเชี่ยลมีเดียแทนได้ เซลส์ 1 คนจะมีความสามารถในการขายได้เท่าเซลส์ 2-3 คนได้สบาย ๆ (จริง ๆ แล้วผมคิดว่าเพิ่มได้ถึง 10 เท่า) แถมไม่ต้องปั้นเด็กใหม่ หรือทุ่มซื้อความสามารถคนเก่งเงินเดือนสูง เอาเงินเดือน 15,000 ต่อเดือน มาลงทุนในระบบออนไลน์ดีกว่าเห็น ๆ
เด็กจบใหม่นั้นกำลังหางานที่ตัวเองชอบ บางคนเลือกที่จะไม่ทำงานที่ไหนเลยจนกว่าจะเจองานที่ตัวเองชอบ บางคนก็ทำงานไปก่อนพอเจองานที่ถูกใจหรือเงินเดือนมากกว่าก็ไป การรักษาคนเก่า ๆ ไว้ทำได้ง่ายกว่ามาก เพียงทำให้พวกเค้ามีความสุขในการทำงานและรู้สึกมั่นคงก็พอ พนักงานธรรมดาต้องการความมั่นคง ลดความยุ่งยาก ส่วนพนักงานไฟแรงก็แค่อยากได้ความก้าวหน้าและโอกาสซึ่งดิจิทัลตอบโจทย์นี้ได้ดี
5. ลดความผิดพลาด
การออนไลน์ทำงานนั้นมีการบันทึกการติดต่อทุกครั้ง อย่างเช่น แอพแชทหรืออีเมล์ที่เราใช้กันประจำจะมีการบันทึกเวลาไว้ ไฟล์เอกสารต่าง ๆ ก็อยู่ในระบบ จะดึงออกมาใช้เมื่อไหร่ก็ได้ อีกทั้งยังมีโปรแกรมหรือแอพอื่น ๆ ที่จะมาสนับสนุนการทำงานได้อีกเพียบ
อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันกับความสุขของพนักงาน คือการวัดผลที่ค่อนข้างแม่นยำใช้ต่อยอดในการบริหารได้ และถ้าจะวัดผลพนักงานก็จะมีตัวชี้วัดที่เปิดเผย สร้างสรรค์ ไม่ก่อดราม่าอีกด้วยนะครับ
6. แบรนด์จะแข็งแกร่งขึ้น
แบรนด์จะดูดีขึ้นมาทันทีที่คุณใช้อะไรที่ไฮเทคกว่าคนอื่นเขา ชิปปิ้งส่วนใหญ่มักจะทำงานแบบเดิม ๆ พวกเค้ารู้จักการใช้งานอีเมล์ แต่ไม่รู้ว่าการออนไลน์แบบครบวงจรเป็นอย่างไร
7. เทคโนโลยีคือสิ่งที่จะเปลี่ยนโลก ไม่ใช่คุณ!
กระแสของโลกนี้คือเศรษฐกิจดิจิทัล ทุกอย่างจะขึ้นไปอยู่รวมกันในอินเตอร์เน็ต เมื่อเทรนด์ของโลกกำลังไปในทางนี้คุณจะว่ายทวนน้ำก็ต้องมีดีมากพอที่จะโดดเด่นโต้คลื่นทวนกระแสกลับได้ แต่ถ้าไม่! จงปรับเปลี่ยนซะตั้งแต่วันนี้ ตอนนี้เลยนะครับ
8. ยังไม่มีใครทำสิ่งที่พิเศษได้
ในธุรกิจอื่นอย่างอุปกรณ์ไฮเทค แอปเปิ้ลอาจจะครองความพิเศษไว้ได้ หรือ Hermes อาจจะเป็นแบรนด์เครื่องหนังที่พิเศษสุด ๆ ในโลกไฮโซ แต่กับชิปปิ้งยังไม่มีใครพิเศษที่สุดแม้แต่ DHL หรือ ใครก็ตาม ยังมีช่องว่างให้แทรกอีกมากมายหรือเมื่อทำแล้วคุณไม่สามารถผลักดันบริการของคุณให้ดังระดับโลกได้ แบรนด์ของคุณก็จะยังแข่งขันได้อย่างสบายๆแน่นอน
จบแล้วครับ :)