7 ข้อควรคิดก่อนจะเปิดตลาดส่งออก

892

ก่อนจะเป็นผู้ประกอบการส่งออกนั้นไม่ง่ายไม่ยากครับ มีคนซื้อของคุณจากต่างประเทศ คุณขายให้เค้า เก็บเงิน ส่งของ จบ ใจความสำคัญมันก็แค่นี้เองนะครับ แต่เรื่องแค่นี้เองนี่แหละครับที่มีคนถามผมเข้ามาบ่อยมากและทุกรายที่ถามมามักจะต้องติดอะไรบางอย่างใน 7 ข้อนี้ครับ

มีตลาดรองรับแล้วรึยัง?

คำถามที่ผมเจอบ่อยมากคือจะหาลูกค้าต่างประเทศได้ยังไง? คือยังไม่มีตลาดรองรับแต่มีความคิดอยากจะขยายตลาดด้วยการส่งออก ผมก็เข้าใจนะครับว่าคุณอยากจะส่งออกแต่ผมเป็นผู้ให้บริการขนส่งไม่ใช่นักเปิดตลาดส่งออกครับ

เรื่องนี้ผมแนะนำให้คุณลองติดต่อกรมส่งเสริมการส่งออกครับ คนจำนวนไม่น้อยเลยนะครับที่ไม่อยากจะติดต่อเข้าไป ไม่ว่าจะด้วยความเชื่อเดิม ๆ ว่าติดต่อไปก็ไร้ประโยชน์หรือราชการมันต้องมีน้ำร้อนน้ำชากันแน่นอน ผมบอกเลยนะครับว่ายุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว ข้าราชการสมัยนี้ดีขึ้นเยอะมากครับ ขอแค่คุณศึกษาพื้นฐานก่อนจะไปคุยกับพวกเค้า ซึ่งข้อมูลก็หาเอาง่าย ๆ แถวนี้แหละครับ

ขายในประเทศได้ดีแล้วรึยัง

ตลาดในประเทศเป็นด่านแรกที่คุณควรจะผ่านให้ได้เสียก่อน การที่คุณเห็นว่ายอดขายในประเทศไม่ค่อยกระเตื้องเลยคิดจะโกอินเตอร์แทนเป็นความคิดที่แปลกประหลาดอยู่ไม่น้อย และที่สำคัญรสนิยมและมาตรฐานคนไทยก็สูงเว่อร์ ๆ จนคุณควรจะลองฝ่าด่านอันโหดร้ายนี้ให้พอมียอดขายเลี้ยงกิจการจนมั่นคงเสียก่อน

ผลิตได้มากเท่าไหร่?

กำลังการผลิตของคุณต้องชัดเจนและเพียงพอที่จะรับมือคำสั่งซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ คุณควรจะต้องวางแผนให้รอบคอบสุด ๆ ถ้ากำลังการผลิตของคุณไม่พอจะเพิ่มกำลังการผลิตยังไงให้รับมือคำสั่งซื้อในประเทศได้ไม่สะดุดและคำสั่งซื้อต่างประเทศก็ส่งได้ทันกำหนด แล้วถ้าเพิ่มกำลังการผลิตแต่คำสั่งซื้อไม่มาต่อเนื่องจะทำยังไง? วางแผนให้ดี ๆ นะครับ

คู่ค้ามาจากที่ไหน? มีความน่าเชื่อถือหรือไม่?

มีหลาย ๆ ประเทศที่ค่อนข้างจะต้องระวังเป็นพิเศษ อย่างประเทศที่เราไม่เคยรู้จักชื่อมาก่อน หรือ ประเทศที่เราเคยได้ยินว่ายังไม่เจริญ หรือ แม้กระทั่งประเทศใหญ่ ๆ ก็ตาม บางทีก็แอบน่ากลัว ดังนั้นให้คิดเสมอว่าลูกค้ารายใหม่จะมาซื้อราคาส่งกับเรา จะมาขอเครดิตกันง่าย ๆ ไม่ได้ ต้องมีหลักประกันทั้งนั้น ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดถ้าหากอยากจะขายแต่ไม่มั่นใจ ผมแนะนำให้เปิด L/C ไปเลยครับ

แนะนำให้อ่าน: รู้แล้วจะอึ้ง!…ระวังโดนหลอกให้ส่งออกฟรี ๆ !

คุณเข้าใจเรื่อง L/C ดีพอแล้วรึยัง?

L/C มีหลายแบบนะครับ คุณควรจะเข้าใจให้ดีก่อนและที่สำคัญคุณมีนายแบงค์เป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้วรึยัง เรื่องธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศคงต้องให้มืออาชีพของธนาคารแนะนำคุณครับ

เคยใช้ eBay, Alibaba, Facebook หรือ Google บ้างแล้วรียัง?

เครื่องมือพวกนี้จะพาคุณไปได้ทุกที่ที่มีสัญญาณอินเตอเน็ตเลยนะครับ คนที่มาถามหาวิธีการเปิดตลาดส่งออกผมก็แนะนำให้ไปศึกษาทางนี้แหละครับ เพราะที่ที่มีสัญญาณอินเตอเน็ตก็มีลูกค้าในอนาคตของคุณอยู่ด้วย แต่เชื่อมั้ยละครับคำพูดประเภทว่า “ไม่เก่งภาษา” ยังมีหลุดออกมาอยู่เลย คนเหล่านี้ผมก็ไม่รู้จะช่วยยังไงเลยละครับ

คุณและลูกค้าของคุณเข้าใจกฎระเบียบการนำเข้าส่งออกของประเทศของตัวเองดีแล้วรึยัง?

ผู้ประกอบการขนส่งทุกราย รู้เรื่องการแพคกิ้ง ถนนหนทาง ระยะทาง รถแบบไหนเหมาะกับสินค้าแบบไหน ตารางเรือเป็นอย่างไร ราคาค่าขนส่งเท่าไหร่ แต่พวกเค้าไม่รู้หรอกนะครับว่าสินค้าคุณต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง? ไปติดต่อกรมไหน กระทรวงไหนยังไง สินค้าร้อยแปดพันเก้าไม่มีผู้ให้บริการชิปปิ้งหรือขนส่งรายไหนจะเก่งและเชี่ยวชาญทุกชนิดสินค้า อีกทั้งกฎระเบียบของไทยเองและแต่ละประเทศก็เปลี่ยนกันได้อยู่ตลอด คุณจะขายสินค้าตัวไหนคุณต้องรู้ให้ครบก่อน คนที่จะสั่งสินค้าคุณก็ควรจะรู้ข้อกำหนดกฎหมายของประเทศตัวเองด้วย อย่าไปหวังพึ่งผู้ให้บริการเพียงอย่างเดียวครับ

มีชิปปิ้งดี ๆ แล้วรึยัง?

เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่เรื่องนึงที่ผู้ประกอบการส่งออกอยากจะได้ชิปปิ้งดี ๆ มาคอยช่วยหลือในสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด ซึ่งชิปปิ้งที่เก่งตรงกับสินค้าที่จะส่งออกแล้วนิสัยดี ไม่โกง คุยกันถูกคอ ก็ช่างหายากเสียเหลือเกินครับ หากคุณได้เจอกับชิปปิ้งที่ดีแล้วก็รักษาน้ำใจกันไว้ให้ดีนะครับ

ทั้ง 7 ข้อนี้ต่างก็จะช่วยให้คุณสามารถเปิดตลาดส่งออกได้อย่างราบรื่น อ่านจบแล้วก็ศึกษาทบทวนสิ่งที่ต้องทำดี ๆ นะครับ ธุรกิจของคุณขึ้นอยู่กับตัวคุณเองครับ