เคสโดนโกงนำเข้าสินค้านี้เป็นเรื่องจริงที่ลูกค้ามาปรึกษาผมครับ ตอนที่เราทั้งคู่จับได้ว่าโดนโกงซะแล้วก็เป็นตอนที่ได้รับ Tracking No. และ Website สำหรับติดตามสถานะสินค้าจากเจ้ามิจฉาชีพคนนั้น ซึ่งนั่นถือว่าโชคยังดีที่รู้ตัวก่อนเพราะหลังจากนั้น มิจฉาชีพยังหาเรื่องมาหลอกให้เราโอนเงินอีกรอบเพื่อจ่ายค่าภาษีที่ด่านในต่างประเทศครับ

ขั้นตอนการโกงมีดังนี้ครับ

เริ่มแรกเมื่อผู้ซื้อติดต่อเข้าไป มิจฉาชีพจะนำเสนอสินค้าให้ตามปกตินั่นแหละครับ โดยคนที่จะซื้อของอยู่แล้วก็มักจะไม่สงสัยอะไร ก็จะอ่าน ๆ ฟัง ๆ ที่เค้าเสนอและเจรจาธุรกิจกันตามปกติ

สิ่งที่ทำให้ผู้ซื้อไม่ทันระวังจะมีพวกใบเซอร์ฯ ต่าง ๆ ที่มิจฉาชีพจะปลอมขึ้นมาเพื่อเอามายืนยัน ถ้าเราไม่มีประสบการณ์ก็จะโดนหลอกโดยง่ายครับ แม้แต่ผมเองที่นำเข้าสินค้าให้ผู้นำเข้าหลายรายก็อาจจะไม่ทันได้สังเกตุเห็นและโอกาสที่เอกสารจะเป็นตัวจริงที่มิจฉาชีพไปหาทางเอามาจากเจ้าของกิจการอีกทีหนึ่งก็ยังเป็นไปได้ ซึ่งก็แทบจะหาจุดตรวจสอบไม่เจอเลยจนกว่าจะโดนเชิดเงินไปแล้วครับ

จากจุดนี้เองที่ทำให้เกิดความเชื่อใจว่าผู้ขายมีตัวตนจริง ขั้นตอนต่อมาเพื่อให้ผู้นำเข้าโอนเงินไปใส่บัญชีของมิจฉาชีพให้เนียนที่สุดคือ เสนอการหลีกเลี่ยงภาษี โดยการเสนอให้เหยื่อโอนเข้าบัญชีบุคคลแทนการโอนเข้าบัญชีบริษัท เพราะถ้าเป็นบริษัทก็จะตรวจสอบได้ง่ายกว่า มิจฉาชีพคงจะไม่ชอบที่เปิดเผยตัวเองกับราชการหรือยุ่งยากจัดการเรื่องบัญชี ซึ่งถ้าทำในรูปแบบบริษัทก็คงจะโกงกันได้ไม่กี่ครั้งก็โดนตรวจสอบบัญชีแล้ว

ในส่วนของตกลงเรื่องเทอมส่งสินค้าก็จะไม่ยอมให้เราใช้เทอม Ex-work รวมทั้ง FOB ด้วย เพราะถูกตรวจสอบได้ง่าย และ B/L ก็ยังต้องระบุข้อมูลอะไรอีกมากมาย จะผิดสังเกตุเอาได้ถ้าไม่มีตัวตนและสินค้าจริง ๆ ข้อเสนอส่งฟรีถึงหน้าประตูบ้านของผู้นำเข้าก็จะถูกเสนอออกมาให้เหยื่อพลาดโอกาสตรวจสอบอีกครั้ง

เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้วก็ถึงเวลาโอนเงินครับ หลังจากที่ผู้นำเข้าโอนเสร็จเค้าก็จะให้ Tracking Number มาพร้อมเวปไซต์ของผู้ให้บริการขนส่ง(ปลอม)มา ทีนี้ก็จะเหมื้อนเหมือนว่ามีการส่งออกมาจริง ๆ ด้วยความเนียนระดับนี้คนที่ไม่ค่อยมีความรู้ก็จะไม่ทันระวังเพราะมันดูเหมือนมืออาชีพทุกอย่าง

โชคดีที่เหยื่อรู้ตัวก่อนเพราะมาปรึกษากับผม ผมก็เลยเริ่มลงมือตรวจสอบอย่างจริงจังให้ เพราะถ้าไม่รู้ตัวก่อนก็คงจะเสียเงินเพิ่มไปอีกครับ เจ้ามิจฉาชีพนั้นทำเป็นว่าสินค้าติดอยู่ที่ด่านศุลกากรประเทศอุซเบฯ ให้เราจ่ายค่าภาษีเพิ่มอีกเพื่อเคลียของออกจากที่นั่นครับ ดีที่เรารู้ตัวกันก่อนการหลอกลวงจึงจบที่ได้รู้ตัวตั้งแต่ได้ Tracking No. พร้อมเวปไซต์ปลอมมา ถ้าเกิดจ่ายค่าภาษีที่อุซเบฯ ไป คงจะได้จ่ายที่เมียนร์ม่าอีกรอบแหง ๆ เรียกได้ว่าจะสูบเอาเงินเราไปจนกว่าเหยื่อไม่มีจะจ่ายนั่นแหละครับ โกงกันเป็นขั้นตอนและหลายรอบมากครับ

จุดตรวจสอบการโกง

อีเมล์

โดยส่วนใหญ่อีเมล์มืออาชีพจะเป็นนามสกุลเดียวกันกับเวปไซต์ เช่น www.abc.com อีเมล์ก็จะเป็น [email protected] ด้วย หากไม่ใช่ควรจะตรวจสอบก่อน บริษัทใหญ่ ๆ ถ้าเราพิมพ์ชื่อใน google ก็มักจะขึ้นอันดับ 1 และมีข้อมูลแผนที่ที่ฝั่งขวามือของหน้าค้นหาด้วย ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็แปลว่าเป็นบริษัทเล็ก ๆ โลว์เทคมากครับ แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าจะโดนหลอก 100% นะครับ แค่มีกลิ่นตุ ๆ นิดหน่อย ต้องลองตรวจสอบด้วยวิธีอื่น ๆ ต่อไปครับ

เสนอการหลบเลี่ยงให้

ปัญหาใหญ่สุดของผู้นำเข้าคือมักจะต้องการลดต้นทุนกันเยอะ ๆ ยิ่งลดต้นทุนได้มากเท่าไหร่ก็เป็นกำไรมากเท่านั้น พอเจอข้อเสนอลดราคาโดยการโอนค่าใช้จ่ายโดยตรงไปยังบุคคลธรรมดาแล้วจะลดค่าภาษีและค่าอื่น ๆ ได้ ความหน้ามืดก็อาจจะเข้าครอบงำเราได้ครับ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง การชำระเงินควรจะมีระบบรักษาความปลอดภัยรองรับ ยิ่งเป็นการค้าต่างประเทศก็ยิ่งควรจะหาทางรักษาเงินทุนของคุณไว้ให้ดี การจะไปตามถึงที่มันยากมากครับ

เลือกเทอมการขนส่งไม่ได้

Trade term คือสิ่งที่จะระบุว่าใครรับผิดชอบการขนส่งตั้งแต่ตรงไหน นั่นทำให้การใช้ Ex-work หรือ FOB จะช่วยให้การตรวจสอบผู้ขายทำได้และเป็นสิ่งที่มิจฉาชีพจะไม่ยอมให้เราทำโดยเด็ดขาด

เมื่อใช้ Ex-work หรือ FOB ผู้ขนส่งจะต้องติดต่อรับสินค้ากับผู้ส่งออก หากไม่มีการส่งสินค้าก็แปลว่าโดนหลอก นั่นคือวิธึการตรวจสอบง่าย ๆ แต่ทรงประสิทธิภาพครับ

ใบเซอร์ฯ

เอกสารเหล่านี้จะออกโดยราชการหรือองค์กรใหญที่ได้รับการเชื่อถือเท่านั้น หากได้มาก็ควรจะเอาไปตรวจสอบก่อนนะครับ อย่าพึ่งไปเชื่อ วิธีตรวจสอบง่าย ๆ คือ ถ้าเอกสารแสดงชื่อบริษัทที่ไม่ตรงกัน เช่น ใบเซอร์ฯ เป็นชื่อบริษัท ABC แต่หน้าเวปไซต์เป็น XYZ ก็ควรจะตรวจสอบก่อนว่าเป็นเวปไซต์ปลอมหรือไม่ หรือถ้าเป็นร้านค้าใน Alibaba ก็ควรจะดูเครื่องหมายรับรองที่ Alibaba เป็นคนรับรองให้ก่อนที่จะโอนเงินชำระค่าสินค้าครับ

ทั้ง 4 ข้อที่ผมเสนอไปเป็นเพียงวิธีเบื่องต้นเท่านั้น หากคุณมีวิธีเด็ด ๆ อะไร ก็เอามาแบ่งปันกันนะครับและหวังว่าทุกคนจะไม่ต้องไปประสพพบเจอมิจฉาชีพกันนะครับ

สอบถามบริการ หรือ พูดคุยปรึกษากับเราได้หลากหลายช่องทางดังนี้ครับ
LINE ID: @expt.co
FACEBOOK: @expt.co
EMAIL: [email protected]

Previous articlePackage Handling Symbol สัญลักษณ์บนหีบห่อที่คุณควรรู้จัก
Next articleปัญหาจดทะเบียน Paperless
เซลส์เฟรทฯ ผู้หันหลังให้กับ Tele-Marketing มาทุ่มเทให้กับการทำ Online Marketing แบบเต็มตัว

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here