ค่าเงินเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับผู้นำเข้าส่งออก สำหรับคนที่ซื้อขายกับต่างประเทศมานานคงจะเข้าใจดีว่าการที่ค่าเงินเปลี่ยนในแต่ละวัน แต่ละเดือน มันส่งผลกับกำไรขาดทุนอย่างไร ยิ่งถ้าตัวเลขยิ่งมาก ก็ยิ่งภาวนาให้ค่าเงินเป็นใจอย่างที่สุดเลยทีเดียว
ค่าเงินที่ดีกับธุรกิจเรา มันต้องเป็นยังไง?
ส่งออกต้องเงินอ่อน นำเข้าต้องเงินแข็ง
ยิ่งค่าเงินต่างชาติแข็งค่า ก็เท่ากับสินค้าของผู้ประกอบการถูกลงโดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องลดต้นทุน ไม่ต้องลดราคา ราคามันลดเองเพราะเงินเค้าใหญ่กว่าเรา ยิ่งถ้าผู้ประกอบการได้ทำการส่งมอบสินค้าเรียบร้อยแล้ว ก็คาดหวังว่าตอนที่รับเงินดอลล่าห์ ตอนนั้นค่าเงินไทยจะอ่อนยวบยาบมากที่สุดในประวัติการณ์เลยทีเดียว
ลองคิดดูว่า ถ้าเราขายสินค้าไป USD 20,000.00 ค่าเงินตอนขายสินค้า USD 1.00 = THB 31.00 แต่ตอนที่ผู้ซื้อในต่างประเทศจ่ายเงินในอีก 1 เดือนต่อมา ค่าเงินเปลี่ยนเป็น USD 1.00 = THB 32.00 ก็เท่ากับกำไร 20,000 บาท โดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย ดวงเฮงแบบนี้ ใครจะไม่ชอบ?
และแน่นอน ในทางกลับกันค่าเงินแข็งย่อมดีกับผู้นำเข้า เมื่อ 1 บาท ของเราซื้อของได้มากขึ้นเพราะค่าเงินแข็ง ต้นทุนนำเข้าก็ลดโดยปริยาย ดังนั้นช่วงที่ค่าเงินแข็งค่าขึ้นมาก็เตรียมช้อปปิ้งสินค้ามาขายได้เลยนะครับ
แต่ก็อย่าลืมว่าค่าเงินนั้นเปลี่ยนแปลงเสมอ
ค่าเงินเปลี่ยนแปลงได้วันต่อวัน ถ้าอยู่ ๆ เกิดวิกฤติอะไรขึ้นมาซักอย่าง ค่าเงินของประเทศนั้น ๆ ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลัน แบบวันต่อวันกันเลยทีเดียว อย่างที่ประเทศไทยเจอวิกฤติต้มยำกุ้ง เมื่อปี พ.ศ. 2540 ที่เมื่อรัฐบาลลอยตัวค่าเงินบาท วันรุ่งขึ้นบางบริษัทที่ไม่มีหนี้สินก็กลายเป็นมีหนี้สิน บางบริษัทที่ร่อแร่ก็ล้มละลายทันที ก็เพราะมีหนี้การค้ากับต่างประเทศเป็นเงินดอลล่าห์จำนวนมาก แต่บริษัทไหนรอต่างประเทศจ่ายเงินก็รวยแน่นอน อะไรแบบนี้ เป็นต้น
ดังนั้นเพื่อเป็นการไม่ประมาท คนทำธุรกิจจึงควรจะมีเงินสำรองในรูปแบบดอลล่าห์ไว้บ้าง ถ้าธุรกิจเราเล็ก สั่งของครั้งละไม่กี่หมื่นบาทก็ลองแลกเงินกับพวกให้บริการแลกเงินต่างประเทศไว้ก็ได้ ลองเก็บเงินดอลล่าห์ไว้บ้างครับจะได้ฝึกรู้จักค่าเงินเอาไว้ แต่ถ้าคุณมีออเดอร์ใหญ่ ก็ควรจะปรึกษาธนาคารที่คุณใช้บริการอยู่นะครับ เค้าจะมีผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเรื่องความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนให้บริการอยู่ครับ