ภาษีนำเข้า คือ ภาษีที่รัฐเรียกเก็บจากผู้นำเข้า เพื่อนำไปพัฒนาประเทศครับ โดยสินค้าแต่ละประเภทก็จะมีอัตราภาษีที่แตกต่างกัน ส่วนนี้ก็เพื่อปกป้องการค้าภายในประเทศ หรือ เพื่อเป็นการส่งเสริมบางอุตสาหกรรมให้ดำเนินการต่อไปได้ อย่างเช่น รัฐยกเว้นภาษีให้กับเครื่องจักรการผลิต เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ เป็นต้น
แต่ในความเป็นจริงสำหรับผู้ประกอบการแล้ว ภาษี คือต้นทุน และ ต้นทุนก็หมายถึงโอกาสในการแข่งขันในตลาดอีกด้วย
เมื่อกำไรเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจรอด ดังนั้นเราจึงควรทำความเข้าใจภาษีนำเข้าว่ามันคิดยังไง ลดตรงไหนได้บ้างอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อวางแผนทำธุรกิจให้แข่งขันได้ โดยไม่จ่ายภาษีเกินจากที่จำเป็นต้องจ่ายครับ
ภาษีนำเข้า 4 ข้อที่ควรต้องรู้
วิธีคำนวณภาษีนำเข้า
อันนี้สำคัญเป็นลำดับแรกเลยนะครับ ขอแค่เรารู้ว่าเค้าใช้วิธีไหนคำนวณค่าภาษี เพื่อมาเก็บค่าภาษีเราเท่าไหร่ ก็ทำให้เราสามารถคำนวณต้นทุนสินค้าได้แม่นยำยิ่งขึ้น
แนะนำให้อ่าน วิธีคิดภาษีนำเข้าแบบง่าย
ภาษีนำเข้ามี VAT ซื้อ
เหมือนกับการซื้อสินค้าภายในประเทศเลยครับ ซึ่งเจ้า VAT ซื้อตัวนี้ก็เอาไปหัก VAT ขายได้ ก็ลองชั่งใจให้ดีว่าเราควรจะทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มรึเปล่านะครับ หากเราไม่จดฯ เราก็เอา VAT นี้ใส่เป็นต้นทุนไปครับ แต่ถ้าเราจดฯ เราก็เอาไปหัก VAT ขายซะ
สิทธิพิเศษทางภาษี
แต่ละประเทศมีสิทธิพิเศษทางภาษีต่างกันไป นั่นก็เพราะ ประเทศไหนก็ต่างมีดีกันคนละอย่าง หรือบางทีก็เป็นเรื่องการเมืองแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันระหว่างประเทศ เช่น ยุโรป เรายังไม่มีสิทธิพิเศษทางการค้ามากนัก การนำเข้าสินค้าจากยุโรปจึงไม่มีสิทธิพิเศษทางภาษี แต่ประเทศจีน เราแทบจะยกเว้นภาษีเกือบทุกอย่างระหว่างกัน
ให้ระวังเรื่อง พิกัดภาษีศุลกากร
เราจะรู้อัตราภาษีที่ต้องเสียภาษีว่าเป็นเท่าไหร่ ก็ต่อเมื่อ เรารู้ว่าสินค้าของเราไปตรงกับพิกัดภาษีตัวไหนของกรมศุลกากร แน่นอนว่าเราอยากเสียภาษีต่ำที่สุด แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าพิกัดภาษีนั้นแน่นอน ไม่สามารถบิดหรือเลี่ยงได้ หากเราเห็นแก่ค่าภาษีที่ถูกลงแล้วไปใช้พิกัดภาษีที่ไม่ตรงกับสินค้า ก็จะมีความเสี่ยงที่จะโดนจับปรับได้นะครับ
แนะนำให้อ่าน HS Code พิกัดภาษีศุลกากร (Harmonized System)