วันก่อนผมเห็นเฟซบุ๊กแฟนเพจขวัญใจลูกจ้างพนักงานออฟฟิสโพสประมาณว่า “งานโคตรเยอะ ทำไมเงินเดือนน้อย?” ผมมองครั้งแรกก็นึกสวนไปทันทีเลยครับ “ก็เพราะไม่มีคุณค่าไงล่ะ!” ผมคิดไปดิบ ๆ ตามสัญชาติญาณที่ติดตัวมานานครับ อันนี้ถ้าเกิดโพสไปจริง ๆ คงจะโดนบรรดาลูกจ้างมือสมัครเล่นยกขบวนดราม่ามาถล่มแน่นอน แต่ถ้าคุณจะดราม่าสวนผมมาก็อ่านให้จบก่อนนะครับ ผมน้อมรับคำติชมทุกกรณีครับ

ในภาวะเศรษฐกิจใหม่แบบนี้ “คุณค่าในตัวเองสำคัญกว่าความภักดีไปแล้ว” มันพ้นยุคสมัยที่ผู้นำเก่งพาองค์กรวิ่งฉิว ๆ ไปลุยในตลาดได้อีกต่อไป ดังนั้นคนเก่งจึงเป็นสิ่งที่ต้องมีในองค์กรไม่ใช่แค่คนที่พร้อมจะซัพพอร์ทผู้นำแต่เพียงอย่างเดียว คุณอาจจะทำงานได้ดีแต่ไม่สามารถทำอะไรที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เจ้านายรักแต่เจ้านายคงจะโปรโมทไม่ได้ เงินเดือนที่พุ่งทะยานก็คงจะเป็นไปไม่ได้ด้วยเช่นกัน

คำถามแรกที่เราทุกคนควรจะตั้งคือคุณค่าของเราคืออะไร?

เศรษฐกิจสมัยใหม่พึ่งพาไอเดียและความสามารถในการผลักดันครับ การที่เราพร้อมที่จะทำงานนั้นไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว 100% ของอาชีพหรือสินค้าบนโลกนี้ถูกลอกเลียนแบบอยู่ตลอดเวลา ปริมาณสินค้าที่ล้นท่วมตลาดจะบีบบังคับให้เจ้าของกิจการต้องลดต้นทุนและคน ซึ่งต้นทุนสำคัญส่วนใหญ่ก็คือแรงงานอย่างเรา ๆ นี่เองครับ

ถ้าเราไม่สามารถคิดอะไรใหม่หรือตอบสนองความคิดใหม่ ๆ ของผู้นำองค์กรได้ เราก็จะกลายเป็นน้ำหนักส่วนเกินขององค์กรไป “จากสัมภาระ ก็จะกลายเป็นแค่ ภาระ” น่ะครับ

คำถามต่อมาคือ คุณค่าของเรานั้นทำให้เกิดเป็นผลงานผลกำไรได้อย่างไร?

ผมเห็นคนหลายคนสามารถบอกไอเดียสินค้าที่ยอดเยี่ยมได้มากมาย มันต้องอย่างนั้นมันต้องอย่างนี้ แต่พอจะให้อธิบายออกมาเป็นขั้นเป็นตอนก็ไม่สามารถทำได้ จริง ๆ แล้วพวกเค้าก็บอกได้นะครับแค่ติดว่าไม่ยอมทุ่มเทคิดวิเคราะห์รายละเอียดต่าง ๆ หรืออีกเรื่องที่บอกเลยว่าต้องส่งเข้าไปปรับทัศนคติได้แล้วคืองกไอเดียครับ ไอเดียที่ดีต้องมีคนลอก ไอเดียที่โคตรบรรเจิดต้องมีคนหาว่าบ้า ไม่งั้นอย่าทำครับ

คุณคิดสุดยอดผลิตภัณฑ์ได้แต่บอกวิธีทำให้เกิดเป็นความจริงไม่ได้ก็หมดสิทธิไปต่อนะครับ

มีเรื่องที่ผมอยากจะเตือนเรื่องหนึ่งคือเรื่องงกไอเดียทั้ง ๆ ที่ตัวเองทำไม่ได้ ผมอยากจะบอกทุกคนนะครับว่ามันเป็นเรื่องติงต๊องที่สุดที่คุณนึกไม่ถึงเลยเพราะการงกไอเดียคือการเตะสกัดขาตัวเองชัด ๆ ถ้าคุณทำไม่ได้คุณต้องขายไอเดียให้คนทำได้ซื้อไป เช่น เสนอโปรเจคให้เจ้านายเห็นด้วยจนคุณได้รับการสนับสนุน หรือขายมันออกไปให้คนที่เห็นด้วย “ไอเดียของคุณ ไม่มีใครเข้าใจมันเท่าคุณ” อย่ากลัวที่จะโดนลอก เพราะเมื่อมันทำสำเร็จออกไปแล้ว มันก็โดนลอกอยุ่ดี

คำถามสุดท้ายคือ เราจะนำเสนอคุณค่าของเราออกไปอย่างไร?

“เรามีคุณค่า เราต้องฉายแสง” คุณจะทำอย่างไรให้ไอเดียที่กลั่นกรองมาเป็นอย่างดีและความสามารถที่สู้อุสาหะฝึกฝนเป็นที่ต้องการ คุณอาจจะนำเสนอความเห็นในที่ประชุม อาจจะทำตัวต้นแบบให้คนอื่นเห็น หรืออะไรก็ตามที่มีจะโน้มน้าวให้เห็นความมีคุณค่ามีประโยชน์ของมันได้ ไอเดียคุณก็จะถูกซื้อแน่นอนครับ

สรุปสุดท้ายครับ… ไม่ว่าคุณจะเป็นเจ้าของกิจการหรือเป็นลูกน้องใคร ถ้าคุณสร้างสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ใคร ๆ ก็ไม่อยากได้ ดังนั้นแล้วก็อย่าโทษความเห็นแก่ตัวของใครเลยนะครับ ตัวเราสินค้าเราไม่มีประโยชน์แต่อยากได้เงินก็เห็นแก่ตัวพอกัน ดังนั้น…. ไม่อยากเป็นผู้คร่ำครวญก็ต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอครับ

Previous article3 ขั้นตอนการเคลมประกันนำเข้าสินค้าให้ได้ตัง
Next articleSocial media ช่วยเปิดตลาดส่งออกของคุณได้อย่างไร?
เซลส์เฟรทฯ ผู้หันหลังให้กับ Tele-Marketing มาทุ่มเทให้กับการทำ Online Marketing แบบเต็มตัว

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here