ใกล้ฤดุฝนเข้าไปทุกทีแล้วนะครับ ในช่วงฤดูมรสุมของทุกปีปัญหาโดยส่วนมากที่ผมมักจะพบก็จะเป็นเรื่องเรือดีเลย์เป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะปีไหนก็จะคล้าย ๆ กันทุกปี ลูกค้าก็เหมือนเดิมทุกปีคือเร่งจะเอาของตลอดไม่เคยเปลี่ยน บางครั้งผมก็อยากจะถามบรรดาลูกค้ากิติมศักดิ์ทั้งหลายนะครับ พี่จะ Just In Time กันมากไปมั้ยครับ 5555
การจะ Just in Time ได้นั้นการวางแผนสำคัญมากนะครับ รอยต่อแต่ละรอยในการทำงานนั้นไม่ใช่ว่ามีเพียงรอยต่อเดียวเสียเมื่อไหร่ ไม่ว่าจะเป็นเริ่มสั่งสินค้าและผลิต มาถึงการขนส่ง การเคลียสินค้าและส่งสินค้า แค่ 3 ช่วง 2 รอยนี้ก็มีรอยต่อเล็ก ๆ อยู่ในนั้นอีกเพียบแล้วครับ ดังนั้นจงอ่านเรื่องต่อไปนี้เพื่อป้องกันการผิดพลาดได้ดียิ่งขึ้นครับ
เรือดีเลย์ เป็นเรื่องปกติ
การที่เรือเลื่อนไม่ว่าจะเลื่อนเข้า เลื่อนออก หรือกระทั่ง Omit เลยเป็นเรื่องปกติมากครับ เพราะการเดินเรือนั้นไม่ง่ายเลย ไม่ว่าจะสภาพดินฟ้าอากาศ สภาพทะเล หรือแม้แต่สภาพเรือเองก็ตาม เรือที่ผ่านการใช้งานอย่างหนักตลอดปีโอกาสจะพังจะเสียมันก็มีใช่มั้ยละครับ ดังนั้นช่วงฤดูมรสุมที่มีโอกาสที่จะเกิดเรื่องเหล่านี้บ่อยขึ้นกว่าเดิมการวางแผนงานก็ต้องรัดกุมขึ้นตามไปด้วยครับ
คุณควรจะลองสต๊อกสินค้ามากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใหญ่หรือเป็นร้านค้าส่งเล็ก ๆ ลูกค้าก็รอคอยสินค้าของคุณกันทั้งนั้น ถ้าคุณได้บอกลูกค้าว่าสินค้าจะมาวันที่ 1 แต่มรสุมดันทำให้สินค้าคุณมาถึงวันที่ 7 ลูกค้าก็จะขาดความไว้ใจเรื่องสต๊อกสินค้าของคุณอย่างแน่นอน เมื่อของไม่มีขายลูกค้าก็ไปที่อื่น ซึ่งคงจะไม่ค่อยดีนักที่จะเปิดโอกาสให้ร้านอื่นได้เสนอขายตอนที่ลูกค้าพกความไม่พอใจคุณเป็นทุนติดตัวไปด้วย
พิจารณาใช้ FCL แทน LCL
ชิปเม้นท์ LCL จะต้องมีการเปิดตู้ในที่โล่ง ถ้ามีวันใดวันหนึ่งฝนตกหนักมากจะไม่มีการเปิดตู้ เพราะผู้ขนส่งก็กลัวสินค้าเปียกพัง อีกทั้งยังไม่ค่อยมีคนงานมาทำงานอีกด้วย การใช้ FCL แล้วลากตู้ออกมาจากท่ามาเปิดเองเป็นเรื่องที่ควรจะลองพิจารณาใช้ครับ และยังสอดคล้องกับข้อที่แล้วที่แนะนำให้ลองสต๊อกของมากขึ้นด้วยครับ
10 CBM
หากจะใช้ FCL ในการขนส่ง ความคุ้มค่าจะเริ่มเมื่อสินค้ามีจำนวนราว 10 CBM ขึ้นไป ค่าขนส่งระหว่าง FCL และ LCL จะเริ่มใกล้เคียงหรือเท่ากันในช่วงนี้ แต่ค่าเคลียสินค้าขาเข้าและค่ารถขนส่งจะแพงกว่าราว 1,000 – 5,000 บาท หากเป็นชิปเม้นท์ที่ด่วนจริงก็อย่าพยายามงกกับต้นทุนนี้นะครับ มันคุ้มค่ามากกว่าที่จะผิดนัดส่งสินค้าไปอีกหลายวันแน่นอนครับ
สั่งสินค้าถี่ขึ้น
การสั่งสินค้าถี่ขึ้นก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจแต่ต้องไม่ลืมว่าต้นทุน Fixed Cost อย่างค่าเคลียสินค้าจะเกิดบ่อยขึ้นกว่านำเข้ามาสต๊อก ลองคำนวณดูนะครับว่าสั่งบ่อย ๆ แต่ต้นทุนสูงขึ้น หรือ สต๊อกสินค้ามากหน่อยรับความเสี่ยงแต่กำไรมากขึ้นอันไหนคุ้มกว่ากัน
พยายามเลือกใช้ FOB หรือ EXW อยู่เสมอ
ตารางเรือที่มีคนดูแลอยู่ที่ปลายทางยังไงก็ดีกว่าการใช้ CFR(CNF) แน่นอน คุณยังพอจะเร่งอะไรได้บ้าง หรือมีโอกาสแก้ไขได้มากกว่าใช้ CFR(CNF) แน่นอนครับ
แนะนำให้อ่าน: เข้าใจ FOB, EXW, CIF และ CFR(CNF) ได้ใน 5 นาที
อย่าลืมเผื่อ
สองเรื่องที่ต้องทำเผื่อไว้คือ เผื่อดีเลย์ และ การทำประกันภัยขนส่งสินค้าไว้ครับ การเผื่อดีเลย์ซ้อนลงไปอีกทีอาจจะฟังดูตลก แต่เชื่อผมเถอะครับดีเลย์แล้วดีเลย์อีกมันมีจริง ๆ ครับ ส่วนเรื่องประกันเอาไว้เผื่อตอนเรือล่มครับเพราะเรือไม่ต้องชดใช้เราถ้าเรือล่มครับ
สรุปสุดท้าย การวางแผนงานในช่วงหน้ามรสุมนี้สำคัญที่เรื่องเรือดีเลย์เป็นส่วนใหญ่ และข้อแนะนำที่ผมแนะนำไปก็ไม่ได้ตายตัวนะครับ คุณสามารถพลิกแพลงและจัดการเพิ่มตามความเหมาะสมของธุรกิจของคุณได้อยู่เสมอครับ ขอให้ทุกคนผ่านฤดูมรสุมไปได้ด้วยดีนะครับ :)
สอบถามบริการ หรือ พูดคุยปรึกษากับเราได้หลากหลายช่องทางดังนี้ครับ
LINE ID: @expt.co
FACEBOOK: @expt.co
EMAIL: [email protected]