นำเข้าสินค้า ใคร ๆ ก็อยากจะนำเข้าโน่นนี่เข้ามาขาย แต่คนที่ไม่เคยนำเข้ามาก่อนก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรยังไงบ้าง เห็นของจีนราคาถูกก็คิดจะโดดใส่ แบบนั้นเจ๊งนะครับ
จากประสบการณ์การตอบคำถามหลายร้อยครั้งกับผู้นำเข้ามือใหม่จำนวนมาก ผมพบว่าพวกเค้ารู้สึกอยากจะทำธุรกิจเล็ก ๆ อะไรซักอย่าง เพื่อเป็นทางไปสู่ความสำเร็จในอนาคตครับ
แม้จะเป็นเพียงตัวหนังสือผ่าน Chat box ทั้งใน Line และใน Facebook แต่ด้วยความมุ่งมั่นอยากจะทำจริง หลาย ๆ ครั้งความตั้งใจเหล่านั้นพุ่งทะลุหน้าจอกระแทกใจผมอยู่เสมอ บทความนี้จึงเขียนขึ้นมาจากประสบการณ์ที่ได้เจอมือใหม่และเตือนใจให้ความไฟแรงเหล่านั้นไม่มุทะลุไปเจอความล้มเหลวจนไฟมอดเอาซะก่อนครับ
ขอให้มือใหม่อ่านอย่างตั้งใจนะครับ แล้วธุรกิจของคุณจะได้ไม่ล้มไปก่อนจะได้ตั้งไข่ครับ
6 เรื่องควรคิดก่อนจะนำเข้าสินค้า
1. ถามตัวเองว่าถนัดอะไรก่อนจะนำเข้าสินค้าซักตัว
เหมือนผมจะเคยเขียนเอาไว้แล้ว แต่เรื่องนี้ก็เป็นพื้นฐานที่สำคัญมากจนละเลยไปไม่ได้ครับ สินค้าที่ถนัดนั้นเป็นสินค้าที่คุณเก่งหรือถนัด และถ้าโชคดีคุณจะรักมันด้วย หลาย ๆ ครั้งเราปล่อยตัวเองให้ทำสิ่งที่ไม่ได้รักจนถนัด นั่นอาจจะทำให้เราต้องหาจุดที่เราจะหลงรักสิ่งที่เราถนัดให้มากขึ้นอีกซักหน่อย แล้วก็ลุยแบบไม่ต้องลังเลครับ
2. มีคนขายสินค้านำเข้าอย่างเดียวกันเยอะแล้วรึยัง
ตลาดกำลังจะวายอยู่รึเปล่า? หรือสินค้าที่คุณถนัดมันแมสไปมั้ย? เรื่องแบบนี้คุณอาจจะต้องหาจุดที่มันน่าสนใจใส่เข้าไปอีกซักหน่อย อย่างเช่น ถ้าจะขายกระเป๋าก็อาจจะต้องออกแบบเอกลักษณ์พิเศษเพิ่มเข้าไปให้มีอะไรบางอย่างที่แตกต่างและเป็นจุดขาย ไม่อย่างนั้นสินค้าคุณคงจะเหมือนกับคนอื่นมากไป จนต้องแข่งขันด้านราคาเพียงอย่างเดียว
ข้อเสียของสินค้านำเข้าคือใคร ๆ ก็นำเข้าได้ ถ้าไม่มีเจ้าใหญ่ซื้อลิขสิทธิไปซะก่อนครับ
แนะนำให้อ่าน: “ขายอะไรดี” คำถามที่ไม่ควรถาม
3. รู้ต้นทุนทั้งหมด
เรื่องต้นทุนนั้นเป็นส่วนสำคัญมากครับ คนที่จะเริ่มทำใหม่ ๆ บางครั้งเห็นราคาสินค้าที่ขายใน Alibaba ถูกกว่าในตลาดครึ่งหนึ่งแล้วเกิดความคิดอยากจะขายบ้าง แต่ไม่รู้ว่าต้นทุนในการนำเข้านั้นยังมีอยู่อีกเยอะ ก่อนการนำเข้าคุณต้องรู้ด้วยว่าต้นทุนทั้งกระบวนการมันมีอยู่เท่าไหร่ อย่างเช่นมีเคสเข้าใจผิดเรื่อง CIF และ CFR(CNF) บ่อยมาก ทุกคนนึกว่าตกลงขนส่งแบบนี้แล้วจะไม่มีอะไรอีก สุดท้ายเจอค่าแลกดีโอ(Local Charge) มหาโหดเข้าไป หรือนึกว่าใช้ฟอร์มอีแล้วภาษี 0 ไม่ต้องจ่ายภาษีอะไรอีก สุดท้ายกำไรแทบไม่เหลือหรือแม้กระทั่งขาดทุน ต้องมานั่งเครียดกันไปอีก
แนะนำให้อ่าน: Local charge ในชิปเม้นท์นำเข้ามีอะไรบ้าง?
4. เข้าใจข้อกำหนดทางด้านศุลกากรบ้างรึเปล่า?
คนส่วนใหญมักง่าย แต่คนประสบความสำเร็จมักจะเป็นคนละเอียดรอบคอบเสมอ และสิ่งสำคัญที่สุดในการลดต้นทุนการขนส่ง คือ คุณจะต้องรู้ข้อกำหนด ข้อห้าม หรือวิธีการอยู่บ้าง ไม่ใช่เอาแต่ซื้อบริการไปซะทุกอย่าง เพราะคงจะไม่มีใครบริการให้คุณแบบฟรี ราคาถูก ในเรื่องที่ยาก ๆ หรอกนะครับ
แนะนำให้อ่าน: 8 ขั้นตอนนำเข้าส่งออก ที่คุณควรรู้
5. มีเซลส์เฟรทฯ หรือ ชิปปิ้ง ที่ไว้ใจได้ซักคนดูแลแล้วรึยัง?
เฟรทฟอร์เวิร์ดเดอร์ดี ๆ ซักคนช่วยคุณได้มากครับ เรื่องพิกัดภาษีกับข้อกำหนด/ข้อห้ามต่าง ๆ ที่มือใหม่ส่วนใหญ่ไม่มีทางรู้เลยนี่แหละจะทำให้ต้องเฟลจนแทบอยากจะล้มเลิก ยิ่งถ้าจ่ายเงินสั่งของไปแล้วด้วยยิ่งแทบจะร้องไห้ พวกเค้าเป็นมืออาชีพทางด้านนี้ พอ ๆ กับที่คุณรู้จักสินค้าของคุณอย่างดี ถามได้ตอบได้ ค่าบริการเพียงเล็กน้อยก็ให้เค้าไปนะครับ
6. เจ๊ง จะต้องทำยังไงต่อ
ข้อนี้โคตรสำคัญ! มือใหม่ส่วนใหญ่จะมีภาพผู้สำเร็จนั่งจิบไวน์บนบังลังค์ที่หุ้มด้วยหนังเสือหรือภาพเฉลิมฉลองจัดเต็มอยู่ในหัว แต่ไม่เคยมีภาพนั่งร้องไห้กระซิก ๆ ที่ปลายเตียง นั่นเป็นความคิดที่ผิดมากครับ เพราะครั้งแรกจะมีซักกี่คนที่ทำได้อย่างราบรื่น?
เอาจริง ๆ แม้ถึงจะมีมือดี ประสบการณ์โชกโชนมาแค่ไหนก็ทำได้แค่แนะนำ แต่ป้องกันให้ไม่โดนผู้ขายในต่างประเทศโกงได้ 100% เช่น ถ้าหากเจอซุกของเน่าเข้าไปก็เจ๊งเอาได้ง่าย ๆ และในกรณีที่ซวยสุด ๆ นำเข้ามาแล้วขายไม่หมด ขายไม่ออก หรือ โดนยกเลิกคำสั่งซื้อจะทำยังไง? ดังนั้นแล้วคุณจึงควรจะคิดให้ดีอย่างรอบคอบตั้งแต่ต้นจนจบ เริ่มแล้วสำเร็จหรือโอกาสเจ๊งกะบ๊งด้วยครับ
สอบถามบริการ หรือ พูดคุยปรึกษากับเราได้หลากหลายช่องทางดังนี้ครับ
LINE ID: @expt.co
FACEBOOK: @expt.co
EMAIL: [email protected]