ในปี 2016 นี้ อะไร ๆ ก็ดูจะดิจิทัลไปซะหมด ช่วงนี้ Eximportal นำเข้าส่งออก ก็เลยแชร์บทความของคนอื่นเกี่ยวกับเรื่องดิจิทัล ๆ อยู่บ่อย ๆ จนผมอยากจะเขียนมุมที่ผมมองเอาไว้ให้ทุกคนได้ลองคิดดูว่าถึงเวลาแล้วรึยังที่เราควรจะให้ความสนใจและปรับตัวให้เป็นพลเมืองดิจิทัลกันได้แล้ว?
ดิจิทัลนั้นไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ
ถ้าลืมไปว่าตอนนี้ประเทศเรากำลังขับเคลื่อนด้วยนโยบาย Thailand 4.0 อยู่ ก็พึงระลึกไว้ในใจเข้าออกได้แล้วว่า ประเทศไทยก็ไม่ยอมพลาดยุคดิจิทัลเหมือนกัน ท่านนายกฯมักจะออกปาฐกถาเองบนเวที Startup บ่อย ๆ นั่นหมายถึงการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
แล้วความที่ไม่เล่นของมันคือ ทุก ๆ คนพยายามเอาทุกอย่างไปเป็นแอพฯหรืออะไรที่มันล้ำ ๆ (ที่ไม่ใช่ยิงโฮโลแกรมรองเท้า) อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน คนที่ไม่พยายามฉุกคิดหรือทำเป็นลืม ๆ ไปก็คงจะต้องตกขบวนกันไป ส่วนที่ไม่รู้จะพยายามยังไงก็ขอบอกได้แต่เพียงว่า จงเปิดอ่านบทความเทคโนโลยีของต่างประเทศเยอะ ๆ นะครับ
Thailand 4.0 คืออะไร?
มันคือ Master Plan ของรัฐบาล ที่ประกอบไปด้วยเทคโนโลยีล้วน ๆ โดยอิงกับ Industry 4.0 อย่างแยกกันไม่ออก เพราะมันเป็นเรื่องเดียวกัน!
โดยใจความสำคัญของมันนั้นหมายถึงการเอาดิจิทัลใส่ลงไปเช่น โรงงานที่ทำงานได้เองด้วยเซนเซอร์และหุ่นยนต์ โดยใช้แรงงานชั้นสูงอย่างวิศวกรฯคอยควบคุม นั่นหมายความว่าแรงงานไร้ทักษะจะไม่มีในโรงงานเหลืออยู่มากนัก(ทุกวันนี้ก็น้อยอยู่แล้ว) และเมื่อทุกเครื่องจักรสามารถทำงานได้โดยอัตโนมัติจนครอบคลุมทั้งระบบ นั่นก็คือจุดจบของแรงงานชั้นล่างสุดอย่างแน่นอน
ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์นั้นก็มีหลาย ๆ อย่างที่โกดิจิทัลได้ เช่น ระบบรถไร้คนขับ, ระบบการชำระเงินแบบ Block chain และยังมีอื่น ๆ อีกมากมายเกินกว่าที่คนไม่ติดตามข่าวสารจะนึกถึงได้ เช่น ระบบโกดังอัจฉริยะของ Amazon หรือแค่ RFID บ้าน ๆ ที่จะทำให้คนงานประเภทสิ้นเปลือง(ไร้ทักษะ)หมดไป
ดิจิทัลจะมีบทบาทอย่างไรบ้าง?
บทบาทของมันคือการลดต้นทุน ในการทำธุรกิจสิ่งที่จะมาใหม่ต้องดีกว่า นั่นหมายถึงการลดต้นทุน เวลา และ แรงงาน ลงไปให้ได้ ไม่อย่างนั้นแล้วจะทำมันขึ้นมาทำไมใช่มั้ยละครับ?
ไม่ต้องบอกก็คงจะเข้าใจว่าไม่ใครก็ใครในอนาคตจะถูกแทนที่ไปเรื่อย ๆ จากความสามารถของโปรแกรมและหุ่นยนต์ต่าง ๆ โดยเริ่มที่แรงงานไร้ทักษะก่อน จากนั้นก็แรงงานที่เป็นเรื่องตายตัว เช่น เฟรทฯไม่ต้องทำเอกสารละเพราะระบบเรือสามารถยืนยันเอกสารได้เองด้วยการเชื่อมต่อระบบกันกับราชการ คือ ของออกมายังไงเท่าไหร่ก็ต้องเป็นของนั้นที่ปลายทาง เมื่อมันไม่มีอะไรพิศดาร จะเอาคนไว้ทำอะไร? ซึ่งชิปปิ้งก็เช่นกัน….
ถ้าเข้าใจดิจิทัลแล้วจะได้ไร?
ผมเชื่อว่าคนที่จะเข้าใจดิจิทัลได้ก็ต้องชอบอะไรที่เป็นเทคโนโลยีไฮเทค แต่ทว่า…. ในขณะนี้คงจะใช้เพียงความชอบไม่ได้แล้ว ใครก็ตามที่คาดหวังว่าตัวเองจะยังคงเป็นผู้ที่คงความสามารถในการแข่งขันในตลาดได้ คงต้องศึกษามันแม้จะไม่เข้าใจหรือเกลียดมันเลยก็ตามที
โอกาสอันดีของเรื่องนี้คือ ผู้บริหารสูงวัยมักจะตามไม่ทันและเป็นโอกาสของเด็กรุ่นใหม่ที่จะได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารได้บ้างหากเข้าใจเรื่องเหล่านี้ครับ ไกด์ไลน์คือความเชื่อมโยงของสิ่งที่เป็นดิจิทัลต่าง ๆ เป็นสิ่งที่เราต้องเข้าใจมันให้ได้ครับ
สุดท้ายนี้ บทความนี้อาจจะดูสุดโต่งเอาซักหน่อย และอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ แต่คุณกล้าพนันกับผมมั้ยว่ามันจะไม่เกิดขึ้นมาจริง ๆ ?